เมื่อสนามเด็กเล่นที่อันตรายที่สุด กลับเป็นสถานที่ที่สร้างสรรค์ที่สุด และปลอดภัยที่สุด แล้วทำไมเราไม่ออกแบบวิธีการเรียนรู้ให้อันตรายบ้าง?
บทความ why safe playgrounds aren’t great for kids ของ Vox เล่าถึง "สนามเด็กเล่นผจญภัย" ที่ไม่มีสไลเดอร์และเครื่องเล่นพลาสติกที่เราคุ้นเคย แต่เต็มไปด้วยวัสดุและเครื่องมือช่างอย่างล้อรถ กระดานไม้ ค้อน และตะปู ซึ่งออกแบบมาให้เด็กๆ กล้าที่จะแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น
Marjory Allen นักภูมิสถาปนิก เล่าว่าการที่เด็กๆ ได้เล่นกับเครื่องมือที่อันตราย ลงมือขุด ก่อสร้าง และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ด้วยตัวเอง จะช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองจากการก้าวข้ามความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้เป็น controlled risk ที่เราควบคุมได้
ที่น่าสนใจคือ สนามเด็กเล่นเหล่านี้ปลอดภัย เพราะเมื่อเด็กได้รับเครื่องมือที่อันตรายและมีจุดประสงค์ชัดเจนอย่างค้อนและตะปู เขาก็จะเห็นว่าตัวเองถูกทรีทแบบเป็นผู้ใหญ่ จะระมัดระวังและกล้าทดลองมากขึ้น
ถึง Marjory Allen จะเรียกสนามเด็กเล่นอเมริกันว่าเป็นสวรรค์ของผู้ใหญ่ แต่เป็นนรกของเด็ก แต่สนามเด็กเล่นทั่วไปที่ดูปลอดภัยและน่าเบื่อนั้น จะทำให้เด็กๆ หาทางเล่นที่อันตรายขึ้น โดยที่พื้นที่ไม่ได้ควบคุมไว้ก่อน เช่นการกระโดดจากที่สูง ซึ่งอันตรายกว่าเยอะเลย!
II. การค้นพบดินแดนที่ไม่รู้
เหตุผลนึงที่เราลาออกจากโรงเรียน ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยไทย และเป็นปรปักษ์กับระบบการศึกษา เพราะเราเห็นว่าการเรียนรู้ในไทย เป็นการเรียนรู้ที่ "ปลอดภัยจนเกินไป" จนทำให้มันไม่สนุก
บรรทัดฐานของสังคมไทย เราคาดหวังว่าคุณครูจะต้องรู้ทุกเรื่อง เด็กจะต้องเรียนตามหลักสูตร และผลลัพธ์ทุกอย่างต้องอยู่ในคู่มือครู นักเรียนถูกทรีทว่าเป็น "เด็ก" ที่ต้องเรียน สอบ รับเกรดอย่างเดียว เราไม่สามารถคิดค้นและ contribute อะไรได้
ทั้งๆ ที่เราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่สนุกจริงๆ คือการเรียนรู้ที่คนเรียนกับคนสอนร่วมกันผจญภัยไปยังดินแดนที่ไม่รู้ด้วยกัน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่เป็น controlled risk ที่ปลอดภัย โดยที่ครูต้องกล้าบอกว่าตัวเองไม่รู้ กล้าที่จะล้มเหลว และกล้าที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เราเลยไม่อยากได้ยินคุณครูฟันธงว่า "โปรเจคนี้ไม่เวริคหรอก" "มาทำโครงงานอันนี้ดีกว่า" "อันนี้เสียเวลา" แทนที่จะใช้เหตุผลและให้คำแนะนำ เพราะจุดประสงค์ของการเรียนรู้คือการได้เดินทางเพื่อค้นพบ คือ journey to discovery ไม่ใช่เรียนไปแค่ให้จบ
ไม่ว่าคุณจะใช้ Active Learning, Discussion Classroom, Project-Based Learning หรือ Flipped Classroom ผลสุดท้ายก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิมหรอก ถ้ามันยังปลอดภัยและขาดการค้นพบ เพราะคุณยังอยู่ในเรือลำเดิม และไม่กล้าพายเรือไปยังดินแดนที่ไม่ถูกค้นพบอยู่ดี
III. ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแฮคเกอร์
เราเชื่อเสมอว่าเด็กทุกคนโตมากับความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เด็กทุกคนช่างสังเกตตั้งแต่ลืมตาดูโลก ไม่มีเด็กคนไหนที่เห็นปุ่มสีแดง เห็นรูปลั๊กไฟแล้วไม่อยากเอามือไปแตะ แต่การเข้ามาของระบบการศึกษาทำให้เราเสียความเป็น Hacker นั้น เพราะเรากลัวความ "ไม่ปลอดภัย"
เรานิยาม Hacker Culture ว่าเป็นการที่เรา embrace ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวเอง กล้าที่จะทดลอง หยิบจับ เอาบล็อกวงกลมไปใส่รูสี่เหลี่ยม ทำในสิ่งที่ระบบไม่อยากให้เราทำ ค้นพบในมุมที่ obscure ที่สุด แล้วดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าเราไปดู Research Labs ในต่างประเทศอย่าง MIT Media Lab ของ MIT เราจะเห็นเลยว่า Hacking เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของเขา ความช่างสงสัย ความกล้าตั้งคำถาม มันทำให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเห็น Technical Founders ในสตาร์ทอัพมากขึ้น
เราเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดี มันเริ่มมาจาก Hacker Culture ที่เรา embrace controlled risk และกล้าที่จะเดินไปในดินแดนที่ไม่รู้ กล้าที่จะศึกษา ทดลอง และค้นคว้าสิ่งที่ไม่อยู่ในตำรา กล้าที่จะประดิษฐ์ ขุด ก่อสร้าง แบบเด็กที่อยู่ในสนามเด็กเล่นผจญภัย อยู่ใน risky safe space
เราเห็นในไทยเริ่มมีโปรเจคอย่าง "เจ๊งก่อนจบ" ของจุฬา หรือโครงการในโรงเรียนเอกชนที่ให้เด็กมัธยมตั้งบริษัท Social Enterprise เอง ซึ่งนี่คือภาพที่เราอยากเห็น แต่เราก็มีไอเดียของตัวเองเช่นกัน
IV. สนามเด็กเล่นของเหล่านักสร้าง
เรากำลังจะสร้างโปรเจค Creator's Playground ให้เป็นสนามเด็กเล่นแห่งการเรียนรู้ของเหล่านักสร้าง เพราะเราอยากสร้าง "Adventure Playground" ที่ก่อให้เกิด "Risky Play" ขึ้นในประเทศไทย
ในสนามเด็กเล่นนี้ ทุกโปรเจคคือการทดลอง ทุกโปรเจคคือการผจญภัยในดินแดนที่ไม่รู้ ไม่มีคำว่าหลักสูตร ตำรา เกรด และผู้สอน เรากำลังจะนิยามการศึกษาใหม่ภายใต้วัฒนธรรมที่เรียกว่า Hacker Culture
ไอเดียของเราง่ายมาก มาเล่าให้เราฟังว่าอยากจะสร้างอะไร อยากรู้เรื่องแนวไหน แล้วเราจะผจญภัยไปด้วยกัน เราจะให้คำแนะนำและเรียนรู้ไปด้วยกัน เราจะใช้โปรเจคที่เล่ามาเป็นเครื่องมือในการสอน เราจะสอนทุกเรื่องที่เราสอนได้ ค้นหาข้อมูลไปด้วยกัน มาดิสคัสไปด้วยกัน
เวลาทำค่าย เราไม่แบ่งแยกน้องค่ายกับพี่ค่าย เราเรียกทุกคนว่าเป็น camper และในโปรเจคนี้ เราเรียกทุกคนว่าเป็น adventurer เช่นกัน
นี่ไม่ใช่ห้องเรียน นี่คือสนามเด็กเล่น
ยินดีต้อนรับสู่การศึกษาในวัฒนธรรมแฮคเกอร์
Sources: https://web.facebook.com/phoomparin.mano/posts/878306065968201